บทความ

รูปภาพ

รูปภาพ

เนื้อหา

3.ทะเลน้อย อุทยานนกน้ำทะเลน้อยหรือทะเลน้อยเป็นทะเลสาบน้ำจืดอยู่ทางตอนเหนือของทะเลสาบสงขลา โดยมีคลองนางเรียมเชื่อมระหว่างทะเลน้อยและทะเลสาบสงขลา ทะเลน้อยเป็นบริเวณที่มีน้ำขังตลอดปี  พืชส่วนใหญ่เป็นพืชน้ำที่โดดเด่นและสร้างสีสันให้กับทะเลน้อย  ได้แก่  สาหร่ายหางกระรอกสาหร่ายข้างเหนียวที่มีดอกเล็ก ๆ สีเหลือง สีม่วงสวยงาม บัวหลวง บัวสาย บัวเผื่อน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนกน้ำนานาชนิดทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพมาอาศัยอยู่ เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพในวงจรธรรมชาติของทะเลน้อยเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบชายทะเลสาบ ประกอบด้วยนาข้าวและป่าหญ้าป่าพรุและป่าเสม็ด เป็นแอ่งน้ำมีพืชปกคลุม และที่ราบเชิงเทือกเขาบรรทัดมีเนินเขาสูงราว 100 เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนพื้นน้ำทะเลน้อยมีความกว้างราว 5 กิโลเมตรและยาว 6 กิโลเมตร ความลึกโดยเฉลี่ยราว 1.5 เมตร ปกคลุมด้วยพืชน้ำต่าง ๆ เช่น บัวกระจูด หญ้าน้ำกก ปรือ และกง กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะบริเวณน้ำตื้นและค่อนข้างนิ่ง ที่ตั้ง : ทะเลน้อย อำเภอควนขนุน  จังหวัดพัทลุง

เนื้อหา

2.วัดถ้ำคูหาสวรรค์ พระอารามหลวงแห่งแรกในจังหวัดพัทลุง ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่ และพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ตามผนัง ด้านหน้ามีจารึกพระปรมาภิไธยย่อของพระมหากษัตริย์ของเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ปรากฏอยู่ ถ้ำคูหาสวรรค์ มีตำนานเรื่องเล่าที่มีที่มาจากเรื่องรามเกียรติ์ โดยเล่าเรื่องควายทรพีฆ่าที่บิดาตนเองตายแล้ว ก็ไปท้ารบกับเทวดาต่าง ๆ พระอิศวรจึงให้ไปรบกับพาลี พาลีออกอุบายให้รบในถ้ำคูหาสวรรค์ พาลีสั่งสุครีพไว้ว่า ให้ไปคอยอยู่ปากถ้ำ ถ้าเห็นว่าเลือดข้นไหลออกมาเป็นเลือดทรพี ถ้าเลือดใสเป็นเลือดของตน ให้สุครีพนำหินปิดปากถ้ำ พาลีฆ่าทรพีตาย ข ณะนั้นได้เกิดฝนตกหนักทำให้เลือดใส สุครีพเข้าใจว่าพี่ชายตาย จึงนำหินปิดปากถ้ำ พาลีโกรธมาก จึงตัดเอาหัวของทรพีขว้างไปที่ปากให้เปิดออก หัวของทรพีกลายเป็นธาตุหินตั้งพิงอยู่ปากถ้ำ เรียกว่า “หัวทรพี” จากนั้นพระยาพาลีก็ไล่สุครีพออกจากเมือง สุครีพก็เข้าไปนั่งร้องไห้อยู่ในถ้ำคูหาสวรรค์ จนขี้ตากลายเป็นธาตุหินขนาดใหญ่ เรียกว่า “ขี้ตาสุครีพ” ที่ตั้ง : ถ้ำคูหาสวรรค์ ถนนคูหาสวรรค์ ตำบลปรางหมู่ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง

เนื้อหา

1. วังเจ้าเมืองพัทลุง หรือที่เรียกว่าวังเก่า-วังใหม่ ตั้งอยู่ใกล้กับวัดวังเดิมเป็นที่ว่าราชการและเป็นที่พักอาศัยของเจ้าเมืองพัทลุงปัจจุบันยังเหลืออยู่ส่วนหนึ่งคือ วังเก่าสร้างในสมัยพระยาพัทลุง (น้อยจันทโรจนวงษ์) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ต่อมาวังได้ตกทอดมาจนถึงนางประไพ มุตามะระบุตรีของหลวงศรีวรฉัตร ส่วนวังในสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2432 โดยพระยาอภัยบริรักษ์จักราวิชิตพิพิธภักดี (เนตร จันทโรจนวงษ์) บุตรชายของพระยาพัทลุงซึ่งเป็นเจ้าเมืองพัทลุง ครอบครัวจันทโรจนวงษ์ได้มอบวังนี้ให้เป็นสมบัติของชาติและกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานวังเก่าในปีพ.ศ 2535 ศาสนสถาน ภายในวังนี้มีสิ่งที่น่าสนใจเรียกว่า “พระศรีมุมเมือง” เป็นพระพุทธรูปประจำภาคใต้และปูชนียวัตถุคู่เมืองของพัทลุงประดิษฐานอยู่ภายในศาลาจตุรมุขบริเวณด้านหน้าระหว่างศาลากลางจังหวัดกับศาลจังหวัดพัทลุงเป็นพระพุทธรูปหล่อสัมฤทธิ์ปางสมาธิ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ที่จังหวัดพัทลุงเมื่อปี พ.ศ. 2511 ที่ตั้ง : วังเจ้าเมืองพัทลุง หมู่ที่ 4 ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง